Posted on 26 มกราคม 2022 by writer
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดอบรม “หลักสูตรผู้นำการส่งเสริมดิจิทัลด้านธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรม” (Chief of Digital Agro Business : CDA รุ่นที่3 ) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จากทั้ง 2 ปี ที่ผ่านมาได้รับความสนใจและมีผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้การตอบรับเข้าร่วมการอบรมรวม 110 คน โดยปีนี้มีผู้บริหารที่สนใจเข้าร่วมจำนวน 33 คน เพื่อเสริมศักยภาพผู้บริหารภาครัฐและเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมต่อไป
เมื่อเร็วๆนี้ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) เป็นประธานเปิดหลักสูตรผู้นำการส่งเสริมดิจิทัลด้านธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมรุ่นที่ 3 (Chief of Digital Agro Business: CDA#3) พร้อมบรรยายพิเศษ “Smart City for Smart Agriculture with New Normal” ให้กับคณะผู้บริหารที่เข้าร่วมอบรมฯ เพื่อเสริมสร้างทักษะ องค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเกษตรสมัยใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้แก่ผู้บริหารระดับสูงในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และธุรกิจที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลแก่องค์กร สังคม และประเทศ ณ รร.โนโวเทล สุขุมวิท 20
ทั้งนี้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลด้านการเกษตรจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป การตลาดและการขาย ทำให้เกษตรกรและคนทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้ประเทศไทยคงความเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรและเกษตรแปรรูปสำคัญของโลก พร้อมก้าวข้ามผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รองรับยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในอนาคต
นอกจากนี้ สำนักงานฯได้ประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรผู้นำการส่งเสริมดิจิทัลด้านธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรม รุ่นที่ 3 จำนวน 33 คน ประกอบด้วยข้าราชการภาครัฐ จำนวน 9 คน วิสาหกิจและองค์กรมหาชน จำนวน 2 คน ภาคเอกชน 22 คน
รายชื่อผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรผู้นำการส่งเสริมดิจิทัลด้านธุรกิจเกษตรฯ รุ่นที่ 3
ข้าราชการภาครัฐ จำนวน 9 คน ดังนี้
- นายจุมพฎ วรรณฉัตรสิริ
รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์
- นางสาวนงลักษณ์ วัชระเกียรติพงษ์
เลขานุการ รองประธาน กสทช. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
- ดร.นภาพร มณฑานพรัตน์
รักษาการผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และแผนสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
- นางสาวปิยธิดา ถิระรณรงค์
ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนงานวิจัย สำนักงานพัฒนางานวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก.
- นายพร้อมพงษ์ วงศ์มณีนิล
ผู้อำนวยการฝ่าย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 1 (เชียงใหม่)
- นางศศิญา ปานตั้น
เลขานุการกรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
- นางสาวศศิธร พำนัก
หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
- ดร.สิทธิเดช ร้อยกรอง
นักวิจัยระดับ 5 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
- นายอดิเรก อินต๊ะฟองคำ
นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา ระดับ 6 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
วิสาหกิจและองค์กรมหาชน จำนวน 2 คน ดังนี้
- นายสมชาย คมพงษ์ปภา
รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- นายสาโรช กิจประเสริฐ
ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพระนครใต้-2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ผู้บริหารภาคเอกชน จำนวน 22 คน ดังนี้
- นายกรินทร์ นนทปัทมะดุลย์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ครอป อะกริเทค จำกัด
- นางสาวกษิญา จรัญวงศ์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชลาหาร จำกัด
- นางสาวเกศนรี จองโชติศิริกุล
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด/ควบคุมคุณภาพ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)
- นายคชินทร์ คล้ายนิล
รองประธานกรรมการฝ่ายขาย บริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด
- ดร.จรวยพรภัทร ลีสมสิริ
ประธานกรรมการบริหารบริษัท คูโบต้าอนันตภัณฑ์นครราชสีมา จำกัด
- นายจิรพิพัฒน์ วรพิพัฒน์
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด
- นายชวรินทร์ ลิ่มวิไลกุล
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลิ้ม สุขใจ จำกัด (สำนักงานใหญ่)
- ดร.ชวลิต นิ่มละออ
ประธานกรรมการบริหาร บริษัทโอเรียนตอลการ์เมนท์ จำกัด
- นายชวลิต หวังธำรง
ที่ปรึกษา บริษัทผลธัญญะ จำกัด(มหาชน)
- นายดุสิต เต็งไตรรัตน์
กรรมการผู้จัดการ ส.เต็งไตรรัตน์(น่าน) จำกัด
- นายถาวร เผด็จสุวันนุกูล
กรรมการผู้จัดการ นายฮั่งอินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด
- นายทวีพงศ์ สุธรรมพันธุ์
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พาวเวอร์ อโกรเทค (ประเทศไทย) จำกัด
- นายธนกร พันธ์นรา
จ้าของกิจการบริษัท ธนไรซ์ อกริเทรด จำกัด
- นางสาวนันทภรณ์ อังศุกุลธร
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกษตรอินโน จำกัด (บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด)
- นางสาวประภาพรรณ เวลเซอร์
กรรมการบริหาร บริษัท เพาเวอร์เทค เอนจิน แอสแซมบลี จำกัด
- นางพรรณา ปัญจวีณิน
กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิทธินันท์ จำกัด
- นายภานุมาส แสนทวี
ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอทีไอ เทคโนโลยีส์ จำกัด
- นาย วิชญ์ วงศ์หาญเชาว์
พัฒนาธุรกิจ-นวัตกรรมดิจิทัล บริษัท ยิบอินซอย จำกัด
- นายวิภู รักษ์นภาพงศ์
ผู้จัดการส่วนอาวุโส–บริการหลังการขายในประเทศ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด
- นายวิวรรธน์ เทียนศิริ
รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายธุรกิจสัตว์น้ำ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร
- นายศิวโรจน์ เสาวมล
หัวหน้าสำนักเทคโนโลยีการเกษตรกลุ่มบริษัทสหวิริยสตีลอินดัสตรี จำกัด
- นายเอกชัย ตั้งรัตนาวลี
เลขานุการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออริจิน / เครือเจริญโภคภัณฑ์
Posted on 26 มกราคม 2022 by writer
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID –19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาทั้งการจัดการเรียนการสอน การเรียนรู้ การวัดและประเมินผล นอกจากนี้ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ประชาชนจากทั่วทุกประเทศมีมีรายได้น้อยลง จนส่งผลคุณภาพชีวิตที่ต่ำลงด้วย ดังนั้นเป้าหมายของการพัฒนามนุษย์ในภาพกว้าง คือ การมุ่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดี (Wellbeing – ness) นอกจากจะสัมพันธ์โดยตรงกับเศรษฐกิจแล้ว ยังสัมพันธ์กันกับความสามารถและประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนอีกด้วย กล่าวคือ ความเป็นอยู่ที่ดีของแต่ละคนสามารถเกิดขึ้นได้จากการมีความรู้สึกทางจิตใจที่ดี และความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันที่ดี ซึ่งคุณครู เพื่อน โรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนต่างก็มีส่วนประกอบสร้างและเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดว่าผู้เรียนแต่ละคนจะมีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางกายภาพ การใช้ชีวิต และสุขภาพจิตที่ดีหรือไม่ ระบบการศึกษาจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสภาวะความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เรียน และสอดผสานความเป็นอยู่ที่ดี (Wellbeing-ness) ให้แก่ผู้เรียนผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ในโลกดิจิทัล
ศาสตราจารย์ สตีเฟ่น ด็อปสัน (Prof. Stephen Dobson) จากมหาวิทยาลัยวิคตอเรีย (Victoria University of Wellington) ประเทศนิวซีแลนด์ บรรยายในงาน EDUCA หัวข้อเรื่อง “Learning and Assessing Wellbeing-ness in an Age of Global Educational Change Workshop” ได้อธิบายถึงแก่นสำคัญของการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี คือ การสร้างให้ผู้เรียนมีทักษะในการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม อันประกอบไปด้วย
- การรู้จักตนเอง (Self – awareness) คือ การรู้เท่าทันสภาวะอารมณ์ของตนเองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี และสามารถประเมินได้ว่า สิ่งใดคือจุดแข็งของตนเอง และสิ่งใดคือข้อจำกัดทางอารมณ์ของตนเอง
- การจัดการตนเอง (Self – management) คือ ความสามารถในด้านการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก ตลอดจนพฤติกรรมของตนเองเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ใดๆ ที่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะการไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ก็สามารถทำให้เราล้มเหลวในสิ่งที่ต้องการในทุก ๆ เรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องการเรียน
- การรู้จักสังคม (Social – awareness) คือ การที่ผู้เรียนในฐานะมนุษย์คนหนึ่งสามารถรู้สึกและแสดงออกถึงความเข้าใจและเห็นใจต่อผู้อื่นในสังคม
- การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision – making skills) คือ การสร้างหลักการทางจริยธรรม หรือสร้างตัวเลือกในการตัดสินใจด้วยดุลยพินิจตนเอง ทั้งในเรื่องส่วนบุคคลและปรากฏการณ์ทางสังคม โดยคำนึงถึงผลที่ตามมา และมีความรับผิดชอบ
- ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี (Relationship Skills) คือการรู้จัก ปรับตัว และพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่นรอบ ๆ ตัว รวมถึงมีความสามารถในการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น มีความสามัคคี และสามารถรับมือกับความขัดแย้งได้อย่างฉลาด
ศาสตราจารย์ สตีเฟ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ครูสามารถนำทักษะทางสังคมข้างต้นนี้ไปใช้สอนได้ด้วยการเริ่มจากตัวเองที่ให้ความสำคัญกับการเป็นอยู่ของผู้เรียน โดยเริ่มตั้งแต่การจดจำชื่อของนักเรียนให้ได้ หมั่นถามความรู้สึกนึกคิดของผู้เรียนเสมอ นอกจากนั้นยังสามารถใช้การตั้งคำถาม เปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิด พูดแสดงความรู้สึก เหตุผล วิเคราะห์คำตอบ รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น และรู้เท่าทันความคิดความรู้สึกตัวเองในทุกๆ กิจกรรมที่ได้เรียนรู้ ส่วนการทดสอบว่าผู้เรียนมี “ความเป็นอยู่ที่ดี” หรือไม่นั้น สามารถวัดและประเมินผลได้จากทั้งสภาพแวดล้อมภายนอกและการแสดงพฤติกรรมที่ครูสามารถสังเกตได้ เช่น ปริมาณการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน (bullying) ที่ลดลง รวมถึงผู้เรียนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีความสุข พอใจในการดำรงชีวิต มีโภชนาการที่ดี ฯลฯ
“อย่างไรก็ตาม การวัดและประเมินผลดังกล่าวในช่วงการเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากการเว้นระยะห่างทางสังคม และการเรียนผ่านเทคโนโลยีที่เป็นสื่อกลาง ดังนั้นครูอาจจะให้นักเรียนทำกิจกรรมและส่งงานสะท้อนตัวตน พร้อมอธิบายว่าตนเองเป็นใครผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่นักเรียนชอบอย่าง TikTok อีกทั้งยังต้องให้ผู้เรียนมีโอกาสพูดคุยกับครอบครัว หรือใส่ใจกับธรรมชาติรอบตัวเพิ่มขึ้น” ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำทักษะทางสังคมและอารมณ์นี้ไปใช้พัฒนาตนเอง ตลอดจนปรับเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ของชีวิตตนเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ ไม่ว่าชีวิตจะเผชิญกับสถานการณ์ท้าทายอะไรก็ตาม” ศาสตราจารย์ สตีเฟ่นให้คำแนะนำ
ประเทศนิวซีแลนด์ ถือเป็นหนึ่งประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญและมียุทธศาสตร์ความเป็นอยู่ที่ดี (Wellbeing – ness) ของเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน นางสาวช่อทิพย์ ประมูลผล ผู้อำนวยการ ประจำประเทศไทย หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า การศึกษามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและเยาวชน การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ บริการด้านสุขภาพและสังคม ที่อยู่อาศัยและอาหาร ตลอดจนความรู้สึกเป็นที่รัก ปลอดภัย และมั่นคงภายในครอบครัวและชุมชนของเด็ก ล้วนมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและเยาวชนทุกคน
ทั้งนี้ ประเทศนิวซีแลนด์ มียุทธศาสตร์ความเป็นอยู่ที่ดี (Wellbeing – ness) ของเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน โดยกำหนดความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญสำหรับสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน พร้อมให้กรอบการทำงานที่เป็นหนึ่งเดียวและแนวทางในการปรับความพยายามของรัฐบาลให้สอดคล้องกัน เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานของประเทศ ได้ตั้งวิสัยทัศน์โดยมีเป้าหมายให้นิวซีแลนด์เป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับเด็กและเยาวชน โดยมุ่งเน้นไปที่เด็กนิวซีแลนด์ทุกคนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ให้มีผลลัพธ์ความเป็นอยู่ที่ดี 6 ประการ ที่แสดงให้เห็นว่าเด็กและคนหนุ่มสาวต้องการอะไรสำหรับชีวิตที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดีมีความหมายต่อเด็กและเยาวชน อันประกอบด้วย 1.เด็กและเยาวชนได้รับการเลี้ยงดูอย่างปลอดภัย 2.เด็กและเยาวชนมีสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต 3.เด็กและเยาวชนมีความสุขและมีสุขภาพแข็งแรง 4.เด็กและเยาวชนได้รับเรียนรู้และพัฒนา 5.เด็กและเยาวชนเป็นที่ยอมรับ เคารพ และเห็นคุณค่าในบ้าน โรงเรียน และชุมชน รวมถึงชุมชนในโลกออนไลน์ และ 6. เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมที่บ้าน โรงเรียนและในชุมชนของเขา